21st Century Skills (A Review)

21st Century Skills

21st Century Skills – Finished reading on 18th August 2018.

ดื่มชาหมดแก้ว ก็อ่านหนังสือจบเล่มพอดี

หนังสือ “ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21” เล่มนี้ซื้อตอนอยู่ มจพ. แต่มาอ่านจบตอนอยู่ มทส.

สาระสำคัญ ช่วงต้น ๆ ของหนังสือจำไม่ค่อยได้ละ ฮะฮะ … แต่จะลองสรุปสาระที่พอจะนึกออกตรงนี้ไว้ละกัน

หนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นโดยการพูดถึงความจำเป็นและความท้าทายในการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษใหม่ให้กับนักเรียน ซึ่งทักษะแห่งอนาคตใหม่ พูดรวม ๆ แล้ว ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (เป็นพวกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (มีทั้งความรู้ด้าน ICT) ทักษะชีวิตและการทำงาน (เป็นทักษะทางสังคม ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัว) ทั้งนี้ทักษะเหล่านี้เป็นที่ยอมรับกันว่า มีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศและโลกในปัจจุบันและอนาคต

Professional Learning Community (PLC)

การที่จะพัฒนาทักษะดังกล่าวให้กับนักเรียนได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับหลักสูตร แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การปรับวิธีการสอนและวิธีการประเมิน ซึ่งเครื่องมืออย่างดีอันหนึ่งที่จะช่วยพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและการประเมินได้อย่างดีคือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC)

หนังสือเล่มนึ้มีการยกตัวอย่าง โดยเน้นไปที่ประเทศสิงคโปร์อยู่หลายบท ด้วยสิงคโปร์ได้กำหนดกรอบแนวคิดที่สำคัญไว้ (ที่จำได้นะ) ได้แก่ วิสัยทัศน์เพื่อชาติ คือ โรงเรียนนักคิด ประเทศแห่งการเรียนรู้ และวิสัยทัศน์เพื่อการศึกษา คือ สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น

The KWHLAQ Method

สิ่งนึงที่น่าสนใจ ที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ แนวทางแบบ KWHLAQ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถนำไปใช้ได้ในชั้นเรียน และสามารถใช้ในการพัฒนาระบบความคิดและระบบการทำงานของนักเรียนได้ โดย K (Know) หมายถึง อะไรที่เราคิดว่าเรารู้ W (Want) หมายถึง อะไรที่เราต้องการค้นหาเพิ่มเติม H (How) หมายถึง เราจะค้นหาคำตอบได้อย่างไร L (Learning) หมายถึง เรากำลังเรียนรู้อะไรบ้าง A (Apply) หมายถึง เราจะประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ในชีวิตหรือในวิชาอื่นอย่างไร และ Q (Question) หมายถึง คำถามใหม่อะไรบ้างที่เรามีในตอนนี้

Technologies

การเรียนการสอนในปัจจุบันหรือในอนาคตนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เทคโนโลยี แน่นอนว่า โรงเรียนจำนวนไม่น้อยได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การแจก Tablet หรือ Laptop รวมทั้งการมี Smart Classroom แต่หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นปัญหาว่า การมีเครื่องมือที่ดี แต่กระบวนการสอนยังเป็นแบบเดิม ๆ ก็ไม่ได้แปลว่า จะสามารถพัฒนาทักษะให้แก่นักเรียนได้ ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนทุกคนมี Laptop คุณครูยังทำการสอนแบบการบรรยายหน้าชั้น และนักเรียนก็ใช้ Laptop ในการพิมพ์เพื่อบันทึกสิ่งที่คุณครูพูดเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีการจดจากปากกาและกระดาษ เป็นการจดผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง ดังนั้น การมีเทคโนโลยีเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่กระบวนการสอนก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย

จากการเกิดของอินเทอร์เน็ต ทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้จำนวนมหาศาลที่นักเรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แน่นอน คือ ผ่านการค้นผ่าน Google แต่เป็นที่น่าตกใจว่า โรงเรียนเน้นสอนวิธีการค้นหาข้อมูลและสารสนเทศที่ต้องการเท่านั้น ไม่มีใครสนใจที่จะสอนเด็กให้มีความคิดเชิงวิพากษ์กับสารสนเทศหรือสื่อที่เห็นเลย กล่าวคือ มันง่ายมากที่นักเรียนจะเชื่อว่าข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด และสำคัญที่สุด คือ ข้อมูลที่ปรากฎในหน้าแรกหรืออันดับต้น ๆ ของผลการสืบค้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ

Evaluation

สำหรับการประเมินทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ในเมื่อกระบวนการเรียนการสอนเปลี่ยนไปแล้ว แต่การที่จะให้นักเรียนมานั่งสอบโดยการเลือก ก ข ค ง นั้น มันไม่ใช่การวัดผลสัมฤทธิ์ที่เหมาะสม พูดง่าย ๆ คือ สอนแบบใหม่แล้ว อย่ามาประเมินแบบเดิม โดยมีการคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเวลาสอบ ห้องสอบ ประเภทของดินสอ และต้องให้ทุกคนตอบแบบเดียวกัน วาดกราฟแบบเดียวกัน ใช้คำศัพท์เหมือนกัน จึงจะได้คะแนน ดังนั้น การประเมินในรูปแบบใหม่ ต้องสะท้อนความเป็นจริงให้มากกว่าเดิม อาจจะลองคิดไปถึงว่า การประเมินไม่ต้องประเมินเป็นรายบุคคลก็ได้ (เมื่อก่อนเราประเมินเพื่อที่จะหานักเรียนที่เก่งที่สุด แต่ในโลกการทำงานนั้น ผลงานนั้นวัดจากความสำเร็จของทีมงานโดยรวมมากกว่า)

ใช้เวลาอ่านมานาน แต่ก็สรุปได้ประมาณนี้นะครับ …