“Past: ปัญญาอดีต” โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จากสำนักพิมพ์ Openbooks อีกเล่มหนึ่งในซีรีย์ “ปัญญา” ที่ได้อ่านจบ (“Future: ปัญญาอนาคต“) ก็เป็นหนึ่งในซีรีย์นี้) ซึ่งเล่มนี้ผู้เขียนได้เขียนโดยอ้างอิงเนื้อหาจากประวัติศาสตร์ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 และไม่ได้หยุดอยู่เท่านี้ ยังไปแตะประวัติศาสตร์จีน สมัยขงจื่อ และสามก๊ก รวมถึงเรื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป โดยผูกเรื่องราวและแง่คิดในมุมมองของผู้เขียนได้อย่างราบรื่น หนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้เปิดมุมมองใหม่ ๆ จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้ไม่น้อยเลย ยกตัวอย่างเช่น
Courage
เรื่องที่ 1 – ในวัย 33 ปี ชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีทรัพยากรและอำนาจมากมาย ไม่ได้มีเครือข่ายอำนาจเก่า แต่กล้าประกาศตนเป็นกษัตริย์ แม้จะรู้ว่าต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค สงคราม และอันตราย ในจิตใจเขาต้องเปี่ยมด้วยคุณสมบัติสำคัญ อันเป็นที่ต้องการของยุคสมัย นั่นคือ ความกล้าหาญ (Courage) … ซึ่งนี่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้ หากเรามอง เราจะเห็นว่า คุณสมบัติข้อนี้ กำลังค่อย ๆ หายไป ด้วยเหตุจากความสะดวกสบาย แค่เพียงเจอความลำบากนิดหน่อย คนจำนวนไม่น้อยกลับละทิ้งความมุ่งมั่นปรารถนาไป และยอมใช้ชีวิตใน Comfort Zone โดยไม่รู้เลยว่าภัยคุกคามกำลังคืบเข้ามา แต่คราวนี้อาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของสงครามเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา … น่าคิดนะ
The Three Kingdoms
เรื่องที่ 2 – อันนี้เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ ขงเบ้งและโลซก ในสามก๊ก … ทุกคนรู้ซึ้งถึงความสามารถของขงเบ้งดี แต่สิ่งที่ทำให้ขงเบ้งโดดเด่นขึ้นมาจริง ๆ คือ ความมีวิสัยทัศน์ และความสามารถในการมองภาพใหญ่ จะเห็นได้จาก เล่าปี่ตัวคนเดียวนั้นไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ให้กับตัวเองได้ จนได้พบกับขงเบ้งผู้วางยุทธศาสตร์ ช่วยให้เล่าปี่ตั้งตัวขึ้นมาได้ แม้จะมีทรัพยากรน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับก๊กอื่น
สำหรับโลซกนั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ให้เห็นว่า เป็นผู้มีมุมมองที่ลึกซึ้งและแยบคาย ขนาดว่า ถ้าขาดโลซกไป แผ่นดินจีนอาจไม่กลายเป็นสามก๊กได้ … โลซกเป็นขุนนางเพียงคนเดียวที่กล้าท้าทายซุนกวนให้พาตัวเองหลุดจากกรอบคิดเดิม และเริ่มคิดในมุมมองใหม่ “ถ้าสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ ขุนนางส่วนใหญ่รวมทั้งข้าพเจ้าคงได้บำเหน็จบำนาญความดีความชอบ รับราชการไม่นานก็คงได้เป็นเจ้าเมืองเล็ก ๆ มีความสุขตามอัตภาพ ขุนนางส่วนใหญ่จึงพยายามหว่านล้อมให้ท่านตัดสินใจไปในทางนี้ แต่ตัวท่านเล่า ถ้ายอมสวามิภักดิ์กับโจโฉ ไม่ทราบว่าชะตากรรมจะเป็นเช่นไร”
ตรงนี้เองที่ผู้เขียน เชื่อมกับความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ อดัม สมิธ ที่กล่าวไว้ว่า “เพราะมนุษย์ย่อมห่วงใยในนิ้วก้อยของตนเอง มากกว่าเภทภัยที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย”
Education
เรื่องที่ 3 – พอกล่าวถึง อดัม สมิธ (Adam Smith) เราก็มาถึงยุโรปกันบ้าง กับจุดเริ่มต้นของการศึกษา และการปฏิวัติอุตสาหกรรม … คงไม่เล่าถึงที่ไปที่มาของการผลิตเครื่องจักรไอน้ำนะครับ แต่มีจุดนึงที่ ส่วนตัวนะ ถ้าไม่ได้อ่านก็ไม่รู้ ก็คือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้เกิดจากการศึกษาหรือวิธีคิดในมหาวิทยาลัย” เจอประโยคนี้ ทำให้อยากรู้อยากเห็นมากขึ้นว่ามันยังไง
อดัม สมิธ เองนั้น ถึงแม้ว่าได้เข้าศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ไม่ได้เกิดความประทับในระบบการศึกษาเท่าไร จึงได้บันทึกไว้ว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าตอบแทนจากเงินกองทุนสะสมขนาดใหญ่ มิใช่ค่าธรรมเนียมจากนักศึกษา ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่จึงไม่สนใจแม้แต่จะเสแสร้งว่าตั้งใจจะสอนสิ่งใด ๆ ให้นักศึกษา” … มองกลับมาที่มหาวิทยาลัยในปัจจุบันได้มั๊ยเนี่ย ว่าเป็นแบบนี้รึเปล่า
อย่างไรก็ตาม อดัม สมิธ โชคดีที่ มหาวิทยาลัยยังมีห้องสมุด จึงสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งแบบนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในการศึกษาพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ผู้เขียนกล่าวไว้ … พอพูดถึงการอ่าน ดาวินชี เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงตนเองได้นั้น ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงมุมมองและความคิด” ผู้เขียนได้กล่าวต่อว่า “จะมีสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงมุมมองของมนุษย์ได้ดีเท่ากับการอ่าน เพราะแนวคิดสำคัญของมนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนถูกถ่ายทอดผ่านการเขียน”
Industry 4.0
เรื่องที่ 4 – ที่จริง ระหว่างทางมาจนถึงท้าย ๆ ของหนังสือ มีเกร็ดประวัติศาสตร์อีกเยอะที่น่าสนใจ แต่ขอเล่าตอนท้ายให้ฟังเลย ในเรื่องของมุมมองของผู้เขียนที่กล่าวถึงประเทศไทยในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ว่า ประเทศเรายังมีสงครามการแย่งชิงอำนาจไม่ต่างจากครั้่งกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรี เรายังไม่มีกติกาใหม่ที่จะทำให้ภาพใหญ่ของประเทศเดินต่อไปข้างหน้า เรายังอยู่ในการเมืองยุคโบราณ ยุคสามก๊ก ในขณะที่โลกได้เดินเข้าสู่การปฏิวัติดิจิทัลโดยสมบูรณ์ … ถึงตรงนี้ ผู้เขียนยังแตะมหาวิทยาลัยด้วยว่า ถ้ายังล้าสมัย ยังไม่ปรับตัว ยังฝังตัวอยู่กับค่านิยมเก่า ย่อมไม่อาจพาตัวเองไปสู่อนาคตใหม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะยิ่งล้าสมัย และจะไม่สามารถมอบสิ่งที่นักศึกษาต้องการได้
เล่าไปเล่ามา มันเริ่มยาว … อ่านรายละเอียดกันเองละกัน ฮะฮะ
สุดท้าย คงต้องขอบคุณ “PAST: ปัญญาอดีต” ที่ทำให้ได้แง่คิด มุมมองใหม่ ๆ ในหลาย ๆ เรื่องเลย