The Author
“The Industries of the Future” เขียนโดย Alec Ross ผู้ที่เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Advisor) ด้าน Innovation ให้กับ Hillary Clinton ตั้งคำถามให้กับเราและกับตัวเค้าเองว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร?
Alec ใช้ประสบการณ์ในการเดินทางไปทั่วโลกของเค้า ระหว่างทำงานกับ Hillary Clinton ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ล่มสลายจากการมีสงคราม ไปประเทศที่กำลังสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ ไปจนการพบปะบุคคลที่มีอิทธิพลทั้งในด้านธุรกิจและการเมือง มากลั่นกรอง พร้อมด้วยความคิด สายตาที่มองไกลของเค้าเอง มาเล่าเรื่องราว ของ “The Industries of the Future” ให้เราได้อ่านกัน … มีทั้งตื่นเต้น และน่ากลัวไปพร้อม ๆ กัน
The New Industries
“The Industries of the Future” พูดถึงอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ และที่สำคัญ กับชีวิตของเราในอนาคต … ตั้งแต่หุ่นยนต์ ไปเรื่อง AI …เรื่อง เทคโนโลยีด้าน Genome … เรื่อง Cyber Crime และ Digital Technology
ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกขึ้น ก็มาจากสิ่งที่ผู้เขียนได้พบมาจริง ๆ และมาถ่ายทอดต่อ เป็นมุมมองในเรื่องของการวางแผนพัฒนาและยกระดับของทั้งจีน รัสเซีย อินเดีย รวันดา และเอสโตเนีย … ชื่อประเทศไทยของเราก็ปรากฎในหนังสืออยู่สองสามครั้งนะ (แต่นิดนึงคือ ผู้เขียนเหน็บจีนอยู่หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน ฮะฮะ)
จาก “The Industries of the Future” ขอมาเล่าสู่กันฟังนิดหน่อยก่อนละกันนะครับ โดยขอเริ่มจากเรื่องนี้ก่อนเลย (ไม่ใช่บทแรกของหนังสือ แต่อ่านแล้วมันติดตา ติดใจ)
What We can Learn from Estonia
ทุก ๆ ประเทศนั้น มีนโยบายที่ตนเองสามารถเลือกได้ ว่าจะ เปิด (open) หรือ ปิด (closed) และประเทศเล็ก ๆ ประเทศนึง ที่มีชื่อว่า เอสโตเนีย (Estonia) เป็นประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
ปี ค.ศ. 1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปนั้น เอสโตเนียก็ได้แยกออกมาเป็นประเทศหนึ่ง และตอนนั้น ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจว่า จะเปิดเพื่อรับอะไรใหม่ ๆ หรือจะปิดประเทศเพื่อกุมอำนาจเอาไว้ … แน่นอนว่า การเปิดประเทศ เป็นตัวเลือกของเอสโตเนีย
การเดินทาง การพัฒนาของเอสโตเนีย ไม่ง่าย … ในปี ค.ศ. 1992 ทุกอย่างเหมือนจะล่มสลายไปหมด เงินแทบไม่มีค่า เพราะเงินเฟ้อพุ่งไปมากกว่า 1,000% ราคาเชื้อเพลิง พลังงานสูงขึ้น 1,000% องค์กรอาชญากรรมเป็นอย่สงเดียวที่น่าจะดูดีในขณะนั้น
เพื่อเปรียบเทียบนะ ตอนนั้น เป็นช่วงที่ Silicon Valley กำลังจะเติบโตขึ้น … ฟ้ากับเหว ชัด ๆ เลย แบบนี้
นายกรัฐมนตรีของเอสโตเนียเวลานั้น ชื่อ Mart Laar ตอนนั้นอายุ 32 ปีครับ บอกเลยว่า หน้าที่หลัก คือ ต้องพาประเทศออกจากความเสื่อม การล่มสลายให้ได้
Development in Estonia
ให้ทายครับ อย่างแรกที่เค้าทำคืออะไร … คำตอบ คือ หยุดการสนับสนุนงบประมาณกับบริษัทของรัฐบาล (State-Owned Companies) ทั้งหมด โดยเค้าบอกให้เริ่มลงมือทำงาน ไม่งั้นก็จะไม่เหลืออะไร (อ่านตรงนี้แล้ว มองบ้านเรา อืมมมม … การบินไทย การรถไฟ ขสมก. อะแฮ่ม)
หลังจากนั้น เริ่มเข้าสู่ช่วงที่สองของการปฏิรูปประเทศ โดยการเอาวัฒนธรรมของการสร้างนวัตกรรมเข้ามาปลูกฝังในประเทศ (เดี๋ยวไว้ค่อยว่ากันเรื่องนี้) … เชื่อมั๊ยครับ แค่ 3 ปี จาก ค.ศ. 1992 – 1995 เงินที่เคยเฟ้อ 1,000% เหลือแค่ 29% ทำให้ช่วงนั้น เอสโตเนียเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น มีการลดข้อจำกัดการส่งออก มีการปรับเรื่องภาษีต่าง ๆ
สิ่งที่น่าสนใจในเวลานั้นคือ ตอนที่เอสโตเนียแยกออกมาใหม่ ๆ นะครับ ประชากรกว่าครึ่ง ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์บ้าน ที่เป็นสายโทรศัพท์น่ะ … ประเทศฟินแลนด์ใจดีสิครับ กำลังจะโล๊ะระบบโทรศัพท์แบบเดิม เพื่อเปลี่ยนเป็นดิจิทัลพอดี เลยเสนอจะมอบให้เอสโตเนีย … แต่ เอสโตเนียปฏิเสธ ไม่รับ … แล้วตัดสินใจมาออกแบบระบบโทรศัพท์ดิจิทัลของตัวเองเลย … กระโดดข้ามเทคโนโลยีแบบเดิมไปเลยครับ
พอพูดถึงการกระโดดข้ามแล้ว ก็มาดูที่ฝั่งรัฐบาล ก็ทำเหมือนกัน เอกสารต่าง ๆ การบริการต่าง ๆ ขึ้นออนไลน์ทันที และในปี ค.ศ. 1998 (แค่ 4 ปี หลังจากการเกิดขึ้นของ Commercial Internet) ทุกโรงเรียนในประเทศ ออนไลน์หมดเรียบร้อย และในปี ค.ศ. 2000 กฎหมายบอกว่า เป็นสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะต้องเข้าถึงออนเทอร์เน็ตได้ (20 ปี มาแล้วนะ … ตอนนี้บ้านเราจะเรียนออนไลน์ ยังมีอีกเยอะเลยเน๊าะ ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีพอ)
แน่นอนครับว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ของเอสโตเนีย และถึงแม้ว่า เอสโตเนียจะยังไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่แบบ Google แต่คิดว่าทุกคนน่าจะรู้จักและเคยใช้ Skype … นี่แหละตัวอย่างนึงของสิ่งที่เกิดจากเอสโตเนีย
A Little More on Estonia
เราคุยเรื่องเอสโตเนียกันต่ออีกนิดนึงดีกว่าเน๊าะ … คราวก่อนก็ได้พูดถึงความสำเร็จของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ไป มันก็พอจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำได้ไง?!?!
ขอยกตัวอย่างที่พอจะเป็นคำตอบได้ให้ดูละกันนะครับ
Alec Ross ผู้เขียน “The Industries of the Future” เล่าว่า ที่เอสโตเนียนี่ พอตกค่ำนะ เริ่มมืดเมื่อไร ไฟหน้ารถเปิด ส่งไปทางไหน ก็จะเห็นการสะท้อนแสงจากคนเดินถนน ไม่ว่าจะเป็นจากเสื้อผ้า กำไร สร้อยคอ เหมือน ๆ เสื้อที่มีแถบสะท้อนแสงของคนงานบนถนนน่ะครับ
เหตุผลที่เห็นแถบรึสิ่งสะท้อนแสงบนตัวคนบนถนนเต็มไปหมด เพราะว่า มันเป็นกฎหมายครับ ที่ระบุ/สั่งว่า เมื่อเริ่มมืด ทุกคนต้องมีสิ่งที่สะท้อนแสงจากตัว เพื่อความปลอดภัย … เหมือนจะเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สามารถบังคับด้วยกฎหมายได้
จริง ๆ แล้ว จากกฎหมายอันนี้ เอสโตเนียสามารถสร้างนักประดิษฐ์ นีกออกแบบขึ้นมาได้ไม่น้อยเลยนะ โดยคนเหล่านี้ก็คิดค้น สร้างสิ่งของสะท้อนแสงที่คนสามารถสวมใส่ได้ จนบางคนมีแบรนด์ มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองไปเลย
อีกอย่างที่ผู้เขียนเล่าให้ฟัง คือ ที่เอสโตเนียมีบริษัทนึงชื่อ Jobbatical … ใช่ครับ มาจาก Job + Sabbatical หมายความว่า บริษัทนี้จะทำหน้าที่ ช่วยจับคู่ระหว่างบริษัทกับคนที่อยากย้ายสถานที่ทำงานแบบระยะสั้นเชิง ๆ พักผ่อนในตัว เช่น เค้าสามารถจับคู่โปรแกรมเมอร์ กับบริษัทในเมืองไทย แล้วส่งมาช่วยทำงานที่บ้านเรา เป็นเวลา สามเดือน เป็นต้น
แค่ตัวอย่างนี้นะครับ เราเห็นอะไรหรือเรียนรู้อะไรได้บ้าง ขอ Quote ผู้เขียนมาเลยว่า “extreme order combined with invention and design” นั่นเอง
What’s Next for Estonia?
แล้วตอนนี้เอสโตเนียกำลังเน้นพัฒนาอะไรอยู่ … ให้ทาย … ฮะฮะ
แน่นอนครับ การศึกษา … ถ้าเทียบกันแล้ว เอสโตเนียลงทุนด้านการศึกษามากกว่า USA, UK และมากกว่าเกือบ ๆ จะทุกประเทศในยุโรปนะตอนนี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา การไปโรงเรียน ความสามารถในการอ่านเขียนจะอยู่ที่ 100% ก็ตาม … ณ เวลานี้เค้าเน้นเรื่อง Robotics และ Coding ครับ และ Coding เริ่มปูพื้นตั้งแต่ ป.1 เลยครับ
เหตุผลเหรอ เค้าลองเทียบกับจีน ประเทศที่ 98 เมือง มีประชากรมากกว่าเอสโตเนียทั้งประเทศ … ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตั้งคำถามเลยครับว่า แล้วเราจะไปแข่งกับจีน (หรือประเทศอื่น ๆ) ที่มีประชากร มีแรงงานจำนวนมหาศาลได้ยังไง
คำตอบ … หุ่นยนต์ หรือ Robotics นั่นแหละ … ก็หุ่นยนต์สามารถมีกำลังผลิตมหาศาลได้ จากการใช้แรงงานที่ไม่เยอะไงครับ
จริง ๆ แล้ว ผู้เขียนบอกนะครับว่า ผู้นำของเอสโตเนียคนนี้ ถ้าพูดถึงความรู้และวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแล้ว เค้ายกให้เป็นอันดับหนึ่งจากผู้นำรัฐ/ประเทศ 196 แห่ง ที่เค้าเคยพบ เลยนะครับ
เรื่องของเอสโตเนียน่าจะประมาณนี้ก่อน … Alec Ross ทึ่งกับเอสโตเนียมาก จนกล่าวว่า เราน่าจะเลิกหา The next Silicon Valley กันได้แล้ว แต่มาหา The next Estonia กันดีกว่า